PONG HUAI LAN ปง-ห้วยลาน

จากความแห้งแล้งสู่ความอุดมสมบูรณ์

ภาพปง-ห้วยลานในอดีตก่อตัวขึ้นลางๆ จากถ้อยคำบอกเล่าของลุงสมิง และพี่ติ๋ม ผู้นำเที่ยวชุมชนของเราในวันนี้ อาจจะไม่ชัดเท่าภาพของลุงสมิงและพี่ติ๋ม แต่ก็ทำให้คนนอกอย่างเราค่อยๆทำความเข้าใจและเปิดใจกับเรื่องราวของพวกเขามากขึ้น

ดวงตาเป็นประกายของพี่ติ๋ม พูดถึงเรื่องราวการเกิดขึ้นของอ่างเก็บน้ำห้วยลาน ที่ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีกินมีใช้ จากที่ทำนาไม่ได้เลย ก็กลายเป็นทำนาได้ปีละสองครั้ง จากที่ชาวบ้านรุกพื้นที่ป่าปลูกพืชระยะสั้นเพื่อปากท้อง ก็หันมาปรับหน้าดิน และช่วยกันดูแลป่า

DSC_1006

เราเดินเท้าไปบริเวณรอบๆอ่างเก็บน้ำ แม้จะเป็นเวลาเกือบเที่ยง แต่ร่มไม้ ลมเอื่อย และบรรยากาศสบายๆ ก็ทำให้เราพอทนกับอากาศร้อนอันเลื่องชื่อของประเทศไทยได้ รถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านเราไปเรื่อยๆพร้อมกับคันเบ็ดบนบ่า ชาวบ้านเข้าไปตกปลากัน ลุงสมิงคลายความสงสัยให้ และเสริมว่าปลาที่นี่ส่วนมากก็มาจากโครงการพระราชดำริ มีการเพาะพันธุ์ปลานิล จนกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของชุมชนในการปรุงอาหาร

01

เราเห็นความเจริญที่ค่อยๆเข้ามาถึงปง-ห้วยลาน ชาวบ้านในชุมชนเข้มแข็ง ดูแลปากท้องกันเองได้ และพอที่จะรองรับ ทั้งนำเสนอเรื่องราวดีๆให้กับนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้

และอย่างที่ลุงสมิงและพี่ติ๋มพูดด้วยรอยยิ้มเสมอว่า ปง-ห้วยลานจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9

DSC_1009

ลงรัก

หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินคำว่าลงรัก หรือลงรักปิดทอง คำว่า ‘รัก’ ในที่นี้ ก็คือยางจากต้นรัก ก่อนอื่นต้องชี้แจงว่า ปง-ห้วยลาน เป็นเพียงแค่ศูนย์วิจัยเรื่องของการกรีดและเก็บรักษายากรักเท่านั้น ไม่ได้เพื่อธุรกิจ ทั้งๆที่ราคาของยางรักนี่สูงลิ่วเลยทีเดียว สาเหตุที่ปง-ห้วยลานได้รับเลือกเป็นศูนย์วิจัยเรื่องของยางรัก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีต้นรักมากที่สุดในประเทศไทย และมีความพร้อมสำหรับการวิจัย

02

การกรีดยางรัก แตกต่างจากการยางพารา ทั้งวิธีการกรีด ความยากง่าย และระยะเวลา ที่นี่ศึกษาวิจัยวิธีที่ดีที่สุดในการกรีดยางรัก กรีดหนึ่งครั้ง พักเพื่อให้รักษาแผล กรีดครั้งที่สอง พักเพื่อให้รักษาแผล และกรีดครั้งที่สาม จะได้น้ำยางมากที่สุด

03

พอเพียง และเพียงพอ

ตามที่เล่าไปตอนต้นว่า ปง-ห้วยลานเหมือนได้รับการชุบตัวจากโครงการในพระราชดำริ ชาวบ้านเองก็ซึมซับและศรัทธาใน ‘ศาสตร์พระราชา’ หรือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรามีโอกาสได้พูดคุยกับยายสม เจ้าของสวนผักออแกนิค ที่ใช้ชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยายสมอู้กำเมืองแบบออริจินัลที่เราแทบจะไม่เข้าใจ แต่เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจของยายสม จริงใจกับการใช้ชีวิตของตัวเอง จริงใจกับการบอกเล่าเรื่องราว และยังจริงใจกับผักในสวนของตัวเองด้วย! ยายสมแจกแจงเงินเดือนที่ได้รับ เหลือใช้เพียงแค่ไม่ถึง 600 บาทต่อเดือน แต่นั่นก็เพียงพอสำหรับคุณตา และตัวยายสมเอง 

04

ยายสมเล่าอย่างออกรสถึงการไล่แมลงของยายเมื่อคืนก่อน ยายบอกว่าตัวแมลงมันมากินผักตอนกลางคืน ยายก็ต้องมาไล่มันตอนกลางคืน ถือไฟฉายมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งก็ไล่แมลงกันไป ยายสมมีความสุขกับการดูแลสวนและพูดคุยกับผัก ยายปลูกผักเพิ่มเรื่อยๆตามกำลังความสามารถของตัวเอง เหลือจากกินเอง ก็ขายชาวบ้านใกล้เคียง เคยมีคนเอาเรื่องของยายไปลงเฟสบุค นักท่องเที่ยวตามมาซื้อผักของยาย แต่ต้องผิดหวังเมื่อมาถึงแล้วผักถูกขายออกไปหมด ยายก็ทำได้แค่พานักท่องเที่ยวเดินชมสวนเท่านั้นเอง

เรามีโอกาสได้ลองชิม มะม่วงหาวมะนาวโห่ ผลชนิดหนึ่งที่เคยได้ยินชื่อมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยลองชิมสักครั้ง ยายเด็ดสดๆจากต้นมาให้ชิม รสชาติหวานติดลิ้น หันไปอีกทีเห็นยายเอื้อมสุดแขนหยิบมะนาวลูกโตมาให้บีบกินตามไป เกิดเป็นสัมผัสใหม่ที่ไม่เคยได้รับ มะนาวหวาน (จริงๆนะ) จนต้องหันไปถามยายว่า นี่มะนาวพันธุ์หวานรึเปล่าเนี่ย ยายไม่ตอบได้แต่ส่งยิ้มให้

07

กว่าจะได้ผ้าตอสักผืน

ผ้าตอ ใช่ ผ้าทอนั่นแหละ ผ้าทอถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนอันดับต้นๆ ของหลายๆชุมชน ต่างกันในส่วนของลายบ้าง ชนิดของผ้าบ้าง ผ้าตอของปง-ห้วยลานเป็นผ้าฝ้าย ขั้นตอนอันยุ่งยากของผ้าฝ้ายตอมือเริ่มตั้งแต่การแยกฝ้ายออกจากเมล็ด การตีฝ้ายให้เป็นเนื้อเดียวกัน การปั่นฝ้ายให้เป็นเส้น ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ทำด้วยตัวเอง ก็คงไม่มีทางเข้าใจ ว่ามันยากขนาดไหน เคยอ่าน เคยเห็น แต่มันก็ไม่เหมือนกับตอนที่ได้ลองลงมือทำเอง

09

10

มากกว่ากระติ๊บใบลาน

ผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของการสานใบลานที่ปง-ห้วยลาน คือกระติ๊บข้าวเหนียวธรรมดาๆ อย่างมากก็เอากระติ๊บใบลานมาประกอบเป็นโมบายตกแต่งบ้าน นั่งคุยกันไปเรื่อยๆได้ความว่าเป็นการสานแบบไม่มีโครง คือขึ้นมือล้วนๆ ดูจากมุมของกระติ๊บแล้ว ไม่ง่ายเลยที่จะขึ้นมือได้เนี้ยบขนาดนี้ ด้วยความซื่อ เราจึงถามว่า ทำไมไม่สานเป็นอย่างอื่นอีกล่ะ ชาวบ้านยิ้มแห้งๆบอกว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสานเป็นอะไร เราอยู่กันในหมู่บ้านเล็กๆทำได้แค่กระติ๊บที่ทุกคนคุ้นเคย ช่วงที่ OTOP บูม ก็มีคนมาสอนทำโมบาย ตอนนี้ไม่นิยมแล้ว งาน OTOP เหลือปีละสองครั้ง กระติ๊บขายไม่ได้ เราก็กลับไปทำงานประจำกันหมด

08

ยินดีที่รู้จัก ปง-ห้วยลาน

ใครจะเชื่อว่าเป็นการเดินทางกรุงเทพ-เชียงใหม่แบบเช้าเย็นกลับ ยังไม่ทันตั้งตัวก็ต้องรีบไปขึ้นเครื่องกลับบ้านแล้ว ไม่ถึงสี่สิบนาทีรถตู้ก็พาเราเข้าถึงตัวเมือง ปง-ห้วยลานไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เลย เป็นทางผ่านไปแม่กำปองด้วยซ้ำ แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักกับชุมชนแห่งนี้ ยินดีที่รู้จักนะ ปง-ห้วยลาน

ภาพสุดท้ายของปง-ห้วยลานในความทรงจำ คือทุ่งนาเขียวชอุ่ม ต้นมะพร้าวสูงลิ่ว นักศึกษามช.กางร่มสีสันสดใสกลางทุ่งนา ท้องฟ้าอาจจะไม่สดใสมากนัก แต่เรากลับรู้สึกถึงพลัง และความมีชีวิตของปงห้วยลานอย่างบอกไม่ถูกเลย

FullSizeRender 4

และทริปดีๆแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดความร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชน – UNDP และ LocalALike 🙂

Comments

comments