新年快乐 (xīn nián kuài lè)
Happy Chinese New Year
ซินเจี่ยหยู่อี่ ซินนี้ฮวดไซ้! ประโยคนี้หลายท่านอาจพูดกับญาติพี่น้องและเพื่อนสนิทมิตรสหายในวันนี้กันมาตลอดทั้งวัน แต่ในวันนี้ TakeMeTour ขอฉีกกฏมาพูดภาษาอังกฤษและแลกเปลี่ยนประวัติตรุษจีน ให้เราไปเล่าความสำคัญและเรื่องราวที่น่าสนใจให้แก่เพื่อนชาวต่างชาติกันดีกว่า
วันตรุษจีน สัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เดิมมักใช้ระยะเวลาฉลองยาวนานถึง 15 วัน แต่ปัจจุบันในประเทศไทยนิยมทำฉลองอยู่ 3 วัน ได้แก่ วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว โดยจะสวมเสื้อผ้าสีแดงเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล และถวายอาหารให้แก่เทพเจ้าและบรรพบุรุษเพื่อความเป็นสิริมงคล
มังกรในตำนานของจีนมักจะปรากฏให้เห็นพร้อมกับลูกแก้ว ไม่ว่าจะคาบอยู่ในปาก กำอยู่ในกรงเล็บ หรือไล่ตามลูกแก้วยามเราดูแห่มังกร ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดบันทึกไว้ว่าเหตุใดทำไมมังกรถึงต้องอยู่คู่กับลูกแก้ว แต่นักวิชาการได้สันนิษฐานหนึ่งที่พอมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นกล่าวไว้ว่า เมื่อศาสนาพุทธเข้ามามีบทบาทและความสำคัญขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ชาวจีนก็ได้ผนวกนำความเชื่อทางด้านพุทธศาสนาเข้ากับความเชื่อพื้นถิ่นอย่างมังกรเข้ากับพุทธศาสนา โดยลูกแก้วอาจหมายถึงลูกแก้วตรีรัตนะ หรือลูกแก้วสามประการในพุทธศาสนาที่หมายถึงพระรัตนตรัยแทนจากความหมายเดิมไปอีกด้วย
ส่วนตำนานการวิ่งไล่ลูกแก้วมาจากนิทานพื้นถิ่นเดิมเล่าต่อกันมาว่ามังกรชอบในของมีค่าดั่งเช่นทองคำและอัญมณี เมื่อเห็นดวงอาทิตย์ (บ้างก็กล่าวว่าดวงจันทร์) สุขสว่างอยู่บนท้องฟ้าก็ไล่ตามแสงสว่างอยู่เรื่อยไป
ซองสีแดงที่เป็นที่อยากได้ของลูกหลาน หรืออั่งเปา เป็นวัฒนธรรมการมอบโชคและความสุขจากผู้เฒ่าผู้แก่ไปสู่ลูกหลาน หรือลูกหลานมอบให้ผู้ใหญ่เพื่อเป็นการอวยพรให้มีอายุมั่นขวัญยืนต่อไป มีมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่ร้อยกันเป็นเหรียญเข้ากับด้ายสีแดงเป็นพวงมอบให้กัน จนกระทั่งปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นซองแดงแทนเมื่อพัฒนาสกุลเงินจากเหรียญสู่พันธบัตร
มีตำนานจีนสมัยโบราณกล่าวเกี่ยวกับที่มา ที่เล่าขานต่อกันมาว่า เหนี่ยน – 年 (Nian) เป็นปีศาจที่จะลงมายังโลก ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านระหว่างปีเก่าสู่ปีใหม่ เพื่อลักพาตัวเด็กๆ วิธีการป้องกัน คือ ผู้ใหญ่จะมอบถุงเงินให้แก่เด็กๆ ไว้ ในคืนก่อนปีใหม่ เพื่อที่ว่าเมื่อเจอกับปีศาจแล้วจะใช้เงินในซองติดสินบนเจ้าปีศาจหรือวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มาพาตัวไป
บางตำนานก็กล่าวว่า เป็นการป้องกันจากวิญญาณร้ายนามว่า สุย – 祟 (Sui) ที่จะมาในค่ำคืนก่อนปีใหม่ หากมันได้สัมผัสศีรษะเด็กคนใด ก็จะต้องมลทินมีโชคร้ายไปตลอดปี พ่อแม่จะต้องอยู่เฝ้าลูกตลอดคืนจนถึงเช้าเพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณตนนี้เข้ามาในคืนนั้น แต่กลับมีครอบครัวหนึ่งมอบเหรียญทองให้แก่ลูกก่อนนอน เมื่อมันเข้ามา แสงของเหรียญทองสะท้อนกับจันทร์ทำให้วิญญาณร้ายหนีหายไป กลายเป็นเรื่องบอกต่อกันมาจนกลายเป็นธรรมเนียมในปัจจุบัน
Fire cracker (ประทัด) – 鞭炮 (bian pao)
เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนามาจากการคิดค้นดินปืนของจีนที่เกิดขึ้น 200 ปีก่อนคริสตกาล โดยนำมาบรรจุไว้ในกระบอกไม้ไผ่เพื่อสร้างเสียง จนกระทั่งเริ่มนำมาใช้งานในเทศกาลปรากฏหลักฐานเมื่อคริสตตรววษที่ 6 เป็นต้นไป โดยเชื่อว่าใช้เสียงดังเพื่อทำให้ความอัปมงคลหรือภูติผีร้ายตกใจแล้วหนีหายไป จนถึงปัจจุบันที่เราจะได้ยินเสียงประทัดกันในวันตรุษจีนตามหน้าบ้านเรือน
เจ้าแป้งสาลีนึ่ง สอดไส้อาหารทั้งคาวและหวานนี้ ถือเป็นหนึ่งในเมนูติ่มซำของเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สามอาณาจักร โดย (3 ร้อยปีก่อนคริสตกาล) พัฒนามาจากหมั่นโถว (馒头) แป้งสาลีนึ่งไม่มีไส้ จนต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (คริสตศตวรรษที่ 10-13) ก็ได้บัญญัติคำว่า เปาจื่อ (包子) หรือ เซาเปา (燒包) ที่แปลว่า ห่อเผา แสดงกรรมวิธีการทำที่ต้องนำไปนึ่งในซึ่งก่อนถึงจะรับประทานพร้อมกับไส้ที่อยู่ภายในให้กับเมนูนี้ขึ้นมา ชาวจีนมักจะรับประทานเป็นอาหารเช้า หรือเป็นมื้ออาหารพกพายามเดินทางไปไหนมาไหน
ซึ่งเจ้าเปาจื่อก็ได้เดินทางมาไกล กระจายไปยังบริเวณแถบเพื่อนบ้านเรา รวมถึงประเทศไทย จนมีชื่อเรียกที่หลากหลาย เช่น มาเลเซีย จะเรียกว่า เปา (pao) สอดไส้เครื่องแกงผสมเข้ากับอาหารแบบมุสลิม อินโดนีเซียเรียก ปักเปา (Bakpao) ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน หรือจะคำว่า เสี่ยวเปา (Siopao) ตามแบบฟิลิปปินส์ที่มีความนิยมในเจ้าซาลาเปาไม่แพ้บ้านเราเลยทีเดียว
Rice cake (ขนมเข่ง) – 年糕 (nián gāo)
ขนมประจำเทศกาลที่ไม่ว่าบ้านใครก็ต้องมีประกอบการจัดเครื่องไหว้ เรียกกันอีกอย่างว่า New Year Cake เป็นขนมมงคลอันมาจากชื่อในภาษาจีน ที่คำว่า 糕 (gāo) พ้องกับคำว่า 高 (gāo) ที่แปลว่าสูง เหมือนเป็นการอวยพรให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปในทุกๆ ปี เป็นขนมที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ยและจิ๋น (220-420 ก่อนคริสตกาล)
บ้านเราอาจจะคุ้นเคยกับรูปแบบหน้าตาของของขนมเข่งที่เป็นเนื้อขาวผสมกันระหว่างแป้งข้าวเหนียวกับน้ำตาล ผสมกับส่วนผสมอย่างมะพร้าวขูด หรือวัตถุอื่นตามแต่สูตรลับเฉพาะ แต่ในประเทศจีน ขนมเข่งมีหลากหลายแบบ แตกต่างกันตามภูมิภาคอย่างมาก อันเป็นผลมาจากระยะเวลาเกือบสองพันปีที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของตนให้เขากับวัฒนธรรมความเป็นอยู่พื้นที่นั้นๆ เช่น แถบตอนเหนือก็จะเป็นแท่ง หน้าตาคล้ายขนมขบเคี้ยว ขณะที่ทางตอนใต้ขนมเข่งมีสภาพสอดไส้คล้ายคลึงกับอาหารคาวเสียมากกว่า เป็นต้น
มาจากความเชื่อว่าสิงโตเป็นสัตว์แข็งแรง น่าเกรงขาม ขับไล่สิ่งชั่วร้าย หรือความอัปมงคลออกไป การเชิดสิงโต หรือ ไซ่จื้อปู จึงกลายมาเป็นประเพณีที่มักทำในวันตรุษจีนเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากบ้านเรือน เพื่อต้อนแต่ความมงคลเข้ามาสู่ปีใหม่ มีหลักฐานนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ของจีน หรือราวคริสตวรรษที่ 4-7 ระบุว่าชาวบ้านได้มีการนำหัวสิงโตมาสวมใส่และเชิดเพื่อไล่ภูติผีที่จะลงมากินผู้ชายในหมู่บ้านเลยกลายเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนปัจจุบัน
ในประเทศไทยมีคณะสิงโตจำนวนมาก การแสดงจากเดิมที่เป็นการสวมใส่หัวสิงโตทำท่าทางเลียนแบบ ก็กลายมาศิลปะการแสดงกายกรรมเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมที่ได้มาดู บ้างก็กระพริบตา อ้าปากให้เราวางซองแดงหรืออาหารให้ หรือแสดงท่าทีออดอ้อนเหมือนลูกแมว นับเป็นสีสันที่ขาดไปไม่ได้ในช่วงตรุษจีนเลยทีเดียว
สำหรับวันนี้ คงมีเพียงเท่านี้ ขออวยพรให้ทุกท่านมีโชค มีสุขติดตัวไปตลอดปีด้วยกันกับเรา ตอนนี้ต้องขอไปรับซองแดงจากนักท่องเที่ยวก่อนล่ะ ♥
อ้างอิง
Asia welcomes lunar New Year | 1 Feb, 2003 | http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/2712567.stm
Chinese New Year’s Myth and history | https://chinesenewyear2018.com
ประวัติวันตรุษจีน | https://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538722196