เหนือไปจากพระธาตุเชิงชุม หรืออุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ ระยะทางสิบห้ากิโลมเตรจากอำเภอเมืองก่อนถึงพระราชนิเวศศภูพาน ยังมีศูนย์การพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งเป็นรากแก้วสำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ทั้งจังหวัดสกลนครและจังหวัดข้างเคียง โดยยังยึดมั่นในอุดมการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งที่จะพัฒนาและวิจัยในทางปศุสัตว์และเกษตรกรรม ผสานกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สามารถปฏิบัติได้จริง เสริมรากฐานความแข็งแรงให้กับชุมชนที่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง โดยมีทรัพยากรหมุนเวียนตลอดปี นอกจากการกิจกรรมพาเยี่ยมชมศูนย์การพัฒนาผ่านสื่อหลายแขนงและรถรางน้องนกฮูกพาทัวร์แล้ว เรายังสามารถเรียนรู้ทฤษฏีหรืองานวิจัยทางการปศุสัตว์ต่างๆ ผ่านมือของเราโดยตรง ทั้งการให้อาหารปลาคราฟผ่านขวด อนุบาลปลานิล หรือพบปะสัตว์สามดำมหัศจรรย์แห่งภูพานอย่างใกล้ชิด จนคิดเอ็นดูในความน่ารักของพวกมันอย่างถอนตัวไม่ได้เลย
จากความรู้ภายในศูนย์การพัฒนานำไปสู่การกระจายลงพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ รวมถึงหมู่บ้านหนองส่าน ภายในอำเภอภูพานเองก็ได้ทฤษฏีแนวคิดต่างๆ มาปฏิบัติจนรากแตกหน่อ ออกดอก ก่อผล กลายเป็นไร่โสมนัส ที่ดูแลโดยคุณแม่โสมนัสและน้องสาว ช่วยกันปลูกข้าว สลับกับการปลูกผัก-ผลไม้ที่หลากหลายชนิด ทำให้มีการหมุนเวียนผลผลิตตลอดทั้งปีมีรายได้ยังชีพไม่ขาดมือ ทั้งยังมีการเปิดรับให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตแบบเกษตรกรพื้นบ้าน หากโชคดีไปช่วงดำนา ก็จะมีโอกาสได้ช่วยคุณแม่และฝากผลงานต้นข้าวแก่ผู้อื่นที่จะมาช่วยเก็บเกี่ยว นำมาหุงเป็นข้าวเหนียวนึ่งร้อนกินคู่กับไก่บ้านย่างหอมมัน เคล้ากับส้มตำปลาร้าและแกงหวายใส่ผักข่าน หรือจะนำข้าวไม่ขัดสีไปตำรวมกับมะพร้าวขูดฝอยและกล้วย ปรุงน้ำตาลอ้อยกับเกลือเอาไปนึ่งจนได้ขนมข้าวแดก ตบท้ายมือบ่าย อิ่มกาย สบายท้อง
ตกบ่ายคล้อยใกล้ย่ำค่ำ ฝีเท้าจ้ำเดินทางจากไร่โสมนัสไปยังบ้านย้อมคราม หนึ่งในภูมิปัญหาการย้อมครามผ้ามัดหมี่ของดีเมืองสกลนครที่มีชื่อเสียง ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงโปรดปรานนับแต่ครั้งแรกที่เสด็จเดินทางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีพุทธศักราช 2548 ผกผันกับผู้สืบทอดที่ลดน้อยลงจนปัจจุบันเหลือบ้านย้อมครามแค่เพียงสองครัวเรือนทำนั้น ที่ยังพอมีเรี่ยวแรงจัดกิจกรรมสอนความรู้การย้อมครามเริ่มตั้งแต่การเก็บต้นคราม มาสู่การหมักทำน้ำคราม ผนวกกับประเพณีเดิมและจิตวิญญาณของ “แม่นิล” ที่สถิตอยู่ในน้ำคราม นิยมลูกยอหรือกล้วยสักหวีเป็นของถวายลงในหม้อยามที่ย้อมแล้วสีไม่สดดั่งต้องการ สร้างลวดลายด้วยเทคนิคดั้งเดิมบนผืนผ้าคลุมไหล่ และนำไปมัดย้อมจนสวยงาม ได้เป็นผลงานของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านไปใช้กัน นับเป็นกิจกรรมสุดท้ายที่เราได้สัมผัสในการเดินทางนี้
เมื่อมีพบก็ต้องมีจาก สัญญาณของบทสุดท้ายในบันทึกการเดินทางชัดเจนขึ้นเมื่อฝีเท้ากลับมาหยุดอยู่หน้าบ้านของพี่โสมนัส ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุต่างมารวมตัวกันที่ใต้ถุนบ้านพร้อมกับพานกระทงบายศรีที่บรรจงสร้างขึ้นมาอย่างปราณีต เสียงคุณแม่โสมนัสเรียกขานให้เหล่าผู้มาเยือนมานั่งล้อมวงกระทง มือก็ปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนขนาดหนึ่งคำแจกจ่ายให้เราคู่กับขนมข้าวแดก เมื่อทั้งข้าวเหนียวและขนมกระจายไปอย่างทั่วถึงแล้ว เหล่าผู้สูงอายุก็เริ่มสวดอวยพรรับขวัญลูกหลานต่างถิ่น แต่กินข้าวหม้อเดียวกันมาแล้วด้วยความเมตตาและเอ็นดู สายสิญจน์สีขาวปลุกเสกด้วยคำอวยพร ผูกมัดรัดเราเหมือนความรักจากชาวบ้านที่ต้อนรับและดูแลเส้นแล้วเส้นเล่า พอกพูนจนแทบมองไม่เห็นข้อมือของตัวเองเมื่อเส้นสุดท้ายมัดบรรจบกัน รถตู้รับ-ส่งประจำการเดินทางมาจอดรอตามเวลานัดหมาย ทำให้ต้องจำใจลาและออกเดินทางจากหมู่บ้านหนองส่าน เหมือนฟ้าเองก็ไม่อยากให้เรากลับ จึงหลั่งน้ำตาลงมาทำให้การเดินทางกลับเข้าอำเภอเมืองใช้เวลานานขึ้น เลยต้องพลาดการลงไปยังอ่างเก็บน้ำ ที่ว่ากันว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์อัสดงควรค่าแก่การมาเยือนเชียวหากได้มาแล้ว
จุดสุดท้ายคือการรับประทานอาหารเย็นที่ครัวสะบันงา ร้านอาหารขนาดกลาง ที่เสิร์ฟอาหารพื้นบ้านรสดี แนะนำผัดหน่อไม้รสจัด ทอดมันปลากรายชิ้นโต และต้มยำกุ้ง คู่กับข้าวหอมตักจากโถร้อนๆ เติมพลังงานที่ใช้ไปทั้งวัน ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานสกลนคร เดินทางกลับกรุงเทพมหานครฯ มาด้วยความทรงจำที่ไม่มีวันลืมจากภูพานและผืนผ้าครามที่ผันรอบคอ การเดินทางแสนประทับใจในหนึ่งวันทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จัดการโดยกรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โครงการพัฒนาสหประชาชาติ (UNPD) และทีมงาน Local Alike ช่วยกันเนรมิตเส้นทางแสนวิเศษเดินทางตามรอยเท้าพ่อหลวงนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือให้เกิดการท่องเที่ยวกับชุมชนให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น