6 นิทาน เรื่องเล่าตามความเชื่อ สู่ตำนานคู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

คนพาเที่ยวเคยสงสัยกันไหมคะ! ว่า… อิฐโบราณ เจดีย์สูงตระหง่าน ซากเมืองโบราณปรักหักพัง ที่เรามักเห็นได้ทั่วไปตามอุทยานประวัติศาสตร์ของไทย ใครเป็นผู้สร้าง และเพราะเหตุใดถึงสร้างขึ้นมา?

วันนี้เรามี “6 นิทาน เรื่องเล่าตามความเชื่อ” ที่จะมาเแบ่งปันให้เพื่อนๆเข้าใจและเห็นภาพกันมากยิ่งขึ้น

1) พระยากง พระยาพาน : พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

“ศึกสายเลือดระหว่างพ่อลูก ที่กลายเป็นตำนานคู่เจดีย์สูงเทียมนกเขาเหิน”

ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ครองเมืองศรีวิชัย (นครไชยศรี) นามว่าพระยากง  มีพระมเหสีทรงครรภ์และให้กำเนิดโอรสองค์หนึ่ง ขณะที่ข้ารับใช้นำพานมารองรับพระกุมาร บังเอิญขอบพานไปกระทบกับหน้าพากของพระกุมาร เกิดเป็นรอยแผล จึงได้พระนามว่า “พระยาพาน” โหรหลวงทำนายว่าเมื่อเติบโตขึ้นพระกุมารจะมีบุญญาธิการมาก แต่จะทำการปิตุฆาต (ฆ่าพ่อตัวเอง) ทำให้กุมารน้อย ถูกนำไปทิ้งไว้กลางป่า ยายพรหมไปพบเข้า เกิดความสงสารจึงเก็บมาเลี้ยง ต่อมายายพรหมยกกุมารน้อยให้กับยายหอม น้องสาวของตนเป็นผู้รับเลี้ยง เพราะเห็นว่ายายหอมไม่มีลูก

เมื่อพระยาพานเติบโตขึ้น ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมจนสำเร็จ และมีโอกาสได้ปราบช้างที่ไล่อาละวาดทำร้ายผู้คนในเมืองสุโขทัย  พระเจ้าแผ่นดินเมืองสุโขทัยเห็นในความดีความชอบ และเห็นว่าพระยาพานมีลักษณะของผู้มีบุญ จึงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินเมืองสุโขทัยต้องการขยายดินแดน รวบเอาเมืองนครไชยศรีเป็นเมืองขึ้น จึงให้พระยาพาน ผู้เป็นบุตรบุญธรรม ออกศึกท้ารบชนช้างกับพระยากง พระยากงโกรธมากที่มีแม่ทัพหนุ่มมาท้ารบ จึงสั่งจัดทับทันที ระหว่างทางมีกิ่งโพธิ์หักตกลงมาทับทหารตายไปหลายนาย ราวกับเป็นลางบอกเหตุ สถานที่ที่กิ่งโพธิ์หักลงมานั้น ต่อมาเรียกกันว่า “บ้านโพธิ์หัก” ในที่สุดเรื่องราวที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจนได้ ณ เเขวงเมืองไชยศรี กองทัพทั้งสองเคลื่อนเข้าประจันหน้ากัน เกิดศึกยุทธหัตถีขึ้น โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่รู้ว่าเป็นพ่อลูกกัน พระยากงขับช้างเข้าประทะช้างของพระยาพาน แต่เสียที! ถูกพระยาพานฟันด้วยของ้าว คอขาดตายบนคอช้าง กองทัพพระยากงพ่ายแพ้อย่างราบคาบ สถานที่ที่พระยากงถูกฟันคอขาด ปัจจุบันคือ ตำบลถนนขาด อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม  

พระยาพานบุกเข้ายึดเมืองนครไชยศรี และต้องการจะครอบครองมเหสีของพระยากงมาเป็นภรรยาตามธรรมเนียมของผู้ชนะสงคราม  เทวดาเห็นว่าผิดศีลธรรมจึงแปลงกายเป็นเเมวแม่ลูกอ่อนนอนขวางบันไดทางเข้าปราสาทของมเหสี ขณะที่พระยาพานก้าวข้ามแมวสองแม่ลูก ได้ยินลูกแมวพูดว่า “ท่านเห็นเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านจึงข้ามเราไป ” แม่แมวตอบว่า “นับประสาอะไรกับเราที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่มารดาของท่าน ท่านยังจะเอาเป็นเมีย” ด้วยความรู้สึกแปลกใจ พระยาพานจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีเป็นพระมารดาของตนจริง ขอให้น้ำนมไหลออกมาจากอกทั้งสองข้าง สิ้นคำอธิษฐานเหตุการณ์ก็ปรากฎดังนั้น พระมเหสีเห็นรอยแผลเป็นที่หน้าผาก จึงรู้ทันทีว่าพระยาพานเป็นพระโอรสของตน พระมเหสีจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระยาพานฟัง  

พระยาพานสลดใจมากที่ฆ่าพ่อแท้ๆของตน จึงโกรธแค้นยายหอมที่ไม่บอกความจริงให้รู้ จึงจับยายหอมฆ่าเสีย ซึ่งสถานที่ที่ยายหอมสิ้นใจ ได้ขุดพบเสาหลักแปดเหลี่ยมที่มีลวดลายแบบทวารวดีที่บริเวณวัดเนินพระ ปัจจุบันถูกย้ายมาเก็บไว้ที่วัดดอนยายหอม เมื่อพระยาพานสำนึกได้ทำบาปใหญ่หลวงนักทั้งฆ่าพ่อ และฆ่ายายหอม ที่เปรียบเสมือนแม่ จึงจัดประชุมพระอรหันต์ เพื่อหาทางไถ่บาป พระอรหันต์ชี้ทางให้สร้างเจดีย์ที่สูงที่สุดเท่าที่นกเขาจะบินได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มีการสร้าง “พระปฐมเจดีย์” ขึ้น ซึ่งพระปฐมเจดีย์เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สูงที่สุดในดินแดนสุวรรณภูมิ  ถ้าหากได้มีโอกาสแวะไปเที่ยวก็จะเห็นพระเจดีย์องค์นี้ ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองนครปฐม

2) พระนางเชิง : วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“จากความเข้าใจผิด สู่โศกนาฏกรรมความรัก เกิดเป็นตำนานเล่าขานคู่วัดพนัญเชิง ”

วัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดสร้างไว้ แต่ในพงศาวดารเหนือมีเรื่องถึงตำนานวัดแห่งนี้ว่า…

สมัยที่บ้านเมืองยังไม่มีกษัตริย์ปกครอง หมู่อำมาตย์ปุโรหิตทำพิธีลอยเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์เอกไชย พร้อมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปตามลำน้ำ เพื่อเสี่ยงทายหาผู้มีบุญญาธิการมาเป็นกษัตริย์ เรือพระที่นั่งลอยมาหยุดนิ่งที่ตำบลแห่งหนึ่ง ณ ที่แห่งนั้น หมู่อำมาตย์เห็นเด็กเลี้ยงควายกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่ เด็กชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนจอมปลวกเล่นเป็นพระราชา กำลังสั่งประหารชีวิตเพื่อนที่เล่นเป็นข้าราชการ ทันทีที่เพชรฆาตปลอมใช้ไม้บั่นคอเด็กน้อย หัวของเด็กผู้โชคร้ายก็ขาดกระเด็น หมู่อำมาตย์เห็นอภินิหารดังนั้นจึงเชิญเด็กชายที่เล่นเป็นพระราชา ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงไทย

ฝ่ายเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนพบเด็กหญิงในจั่น (ช่อดอกอ่อนของหมาก หรือช่อดอกมะพร้าวเมื่อยังอ่อนอยู่) เวลาผ่านไปพระธิดาสร้อยดอกหมากเติบโตเป็นสาวรูปงาม โหรทำนายว่าคู่ครองของพระธิดาคือพระเจ้ากรุงไทย พระเจ้ากรุงจีนจึงส่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้ากรุงไทย เพื่อยกพระธิดาให้เป็นพระมเหสี พระเจ้ากรุงไทยพอพระทัยอย่างมาก ตรัสว่าจะไปรับพระธิดาสร้อยดอกไม้ในเดือน 12 นี้

เมื่อถึงแรม11 ค่ำ เดือน 12 จัดขบวนเรือไปรับพระนางสร้อยดอกหมาก เมื่อเสด็จถึงแหลมวัดปากคลอง ทรงทอดพระเนตรเห็นรังผึ้งที่อกไก่ (ไม้เครื่องเรือนที่พาดด้านบนเป็นสันหลังคา อยู่ใต้ช่อฟ้า หน้าบัน) ได้อธิษฐานเสี่ยงทายว่าถ้าพระองค์มีบุญญาธิการที่จะปกครองบ้านเมืองให้เป็นสุขแล้ว ขอให้น้ำผึ้งหยดย้อยลงมากลั้วเรือพระที่นั่งให้เคลื่อนไปเทียบที่กำแพงแก้วด้วยเถิด สิ้นคำอธิษฐานพระที่นั่งก็เคลื่อนไปเทียบอยู่ที่กำแพงแก้วราวกับปาฏิหาริย์ เหล่าข้าราชการเห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงถวายพระนามว่า“พระเจ้าสายน้ำผึ้ง”

เมื่อเรือพระที่นั่งล่องไปถึงเขาไพ่ เมืองจีน ชาวสำเภาจีนจึงนำความไปกราบทูลให้พระเจ้ากรุงจีนรับทราบ พระเจ้ากรุงจีนต้องการทดสอบบารมีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงเชิญให้ประทับค้างแรมที่อ่าวนาค และอ่าวเสือ ซึ่งเป็นสถานที่อันตรายและน่ากลัว แต่พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็ประทับอยู่ได้อย่างปลอดภัย มีเทวดาคอยบรรเลงเพลงขับกล่อมทั้งคืน เมื่อพระเจ้ากรุงจีนเห็นถึงพระบารมีแล้วจึงจัดพิธีอภิเษกให้ หลังจากนั้นพระเจ้าสายน้ำผึ้งก็พาพระนางสร้อยดอกหมากกลับกรุงไทย

ขบวนเรือพระที่นั่งลอยมาถึงเกาะกลางน้ำแห่งหนึ่ง มีพระสงฆ์ 150 รูป มารอรับเสด็จ ต่อมาเกาะนี้มีชื่อว่า เกาะพระ จากนั้นพระเจ้าสายน้ำผึ้งก็เสด็จเข้าวังก่อน เพื่อเตรียมพิธีต้อนรับพระนางสร้อยดอกหมาก โดยรับสั่งให้พระนางสร้อยดอกหมากประทับรออยู่ที่เรือก่อน  ครั้งพระเจ้าสายน้ำผึ้งส่งขบวนมารับอย่างเอิกเกริก แต่ ! พระนางสร้อยดอกหมากไม่เสด็จ เพราะน้อยใจว่าพระสวามีไม่มารับด้วยพระองค์เอง พระเจ้าสายน้ำผึ้งทราบก็ตรัสหยอกเย้าว่า “มาถึงที่นี่แล้ว ถ้าอยากอยู่ตรงนั้นก็ตามใจเจ้าเถิด” พระนางเข้าใจผิดคิดว่าพระสวามีตัดจริง วันรุ่งขึ้น พระเจ้าสายน้ำผึ้งออกมารับเสด็จด้วยพระองค์เอง พระนางก็แง่งอนไม่ยอมไป พระองค์จึงตรัสหยอกเล่นอีกว่า “เมื่อไม่ไปก็จงอยู่นี่เถิด” ทำให้พระนางสร้อยดอกหมากเสียใจมากขึ้น กลั้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้น  

พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสียพระทัยเป็นอย่างมาก รับสั่งให้อัญเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่ “แหลมบางกะจะ” จากนั้นสร้างวัดขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่พระนางสร้อยดอกหมาก และให้ชื่อวัดว่า “วัดพนัญเชิง” ปัจจุบันที่วัดแห่งนี้มีการตั้งศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ลักษณะเป็นศาลเจ้าจีน ประดิษฐานรูปหล่อองค์เล็กของพระนางสร้อยดอกหมากไว้

3) กำเนิดพระแก้วดอนเต้า : วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามวรวิหาร จังหวัดลำปาง

“จากผลหมากเต้าประหลาดในไร่ของหญิงสาวใจบุญ สู่กำเนิดพระแก้วมรกต สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองลำปาง”

เมื่อพันปีมาแล้ว มีพระเถระในเมืองลำปาง รูปหนึ่งตั้งใจจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา แต่ยังขาดวัสดุที่เหมาะสม

พญานาคตนหนึ่งในแม่น้ำวังนะที (แม่น้ำวัง)  รู้ถึงความตั้งใจดีนี้ จึงคิดช่วยพระเถระ โดยได้เนรมิตแก้วมรกตใส่ไว้ในผลหมากเต้าที่ไร่ของนางสุชาดาผู้ใจบญ เช้าวันรุ่งขึ้นนางสุชาดาไปที่ไร่ เห็นหมากเต้าผลหนึ่งผิวเปลือกนวลสวยกว่าผลอื่น จึงตัดไปถวายพระเถระ เมื่อพระเถระผ่าผลหมากเต้าก็พบแก้วมรกตลูกใหญ่ สีเขียวสุกใสงดงามมาก จึงนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดก็ไม่สามารถแกะสลักได้ ในขณะที่พระเถระกำลังหาวิธีแกะสลักพระพุทธรูปอยู่นั้น มีชายนิรนามคนหนึ่งขออาสาเป็นผู้แกะสลักให้ พระเถระก็ยินดี จึงเข้าไปหยิบเครื่องมือมาให้ชายผู้นั้น ครั้นออกมาก็ต้องตกตะลึง เมื่อพบพระพุทธรูปแก้วมรกตองค์งามตั้งอยู่ ส่วนชายลึกลับนั้นได้หายตัวไป ชาวเมืองรู้ข่าวจึงพากันมาสักการะ และขนานนามพระแก้วมรกตว่า “พระแก้วดอนเต้า”

ผู้คนทั้งเมืองต่างยกย่องในความดีของพระเถระและนางสุชาดา แต่มีคนพาลเกิดความริษยาใส่ร้ายทั้งสองว่าเป็นชู้กัน ทำให้พระพุทธศาสนามัวหมอง แล้วนำความไปบอกกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองหลงเชื่อไม่ได้สอบสวนให้ชัดเจน จับนางสุชาดาประหาร ก่อนตายนางอธิษฐานว่าถ้านางบริสุทธิ์ขอให้เลือดพุ่งขึ้นฟ้า แต่ถ้าทำผิดจริงขอให้เลือดไหลลงสู่ดิน  เหตุการณ์น่าอัศจรรย์ก็เกิดข้น เมื่อเพชรฆาตลงดาบตัดคอนางสุชาดา เลือดของนางก็พุ่งขึ้นฟ้า ไม่หยดลงดินเเม้เพียงหยดเดียว

ฝ่ายเจ้าเมือง โดนผู้คนโจษจันว่าประหารผู้บริสุทธิ์ รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากจนตรอมใจตายในที่สุด

ต่อมาพระเถระได้อัญเชิญพระแก้วดอนเต้า ไปประดิษฐานที่วัดลัมภะกัปปะ ปัจจุบันคือ “วัดพระธาตุลำปางหลวง”

ส่วนบริเวณบ้านของนางสุชาดา ได้สร้างวัดขึ้น ชื่อ วัดสุชาดาราม ในปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกับวัดพระแก้วดอนเต้า ทำให้มีชื่อใหม่ว่า “วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามวรวิหาร” ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง โดยวัดแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นวัดสำคัญที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตนานถึง 32 ปี

4) เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว : ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าแม่เล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี

“สตรีจีนผู้เด็ดเดี่ยว ดั้นด้นข้ามน้ำข้ามทะเล หมายตามหาพี่ชายกล้บมาตุภูมิ”

มีตำนานเรื่องเล่า ถึงความเด็ดเดี่ยว และแรงอาถรรพ์คำสาปแช่งของสาวชาวจีน นาม “ลิ้มกอเหนี่ยว” ว่า…

เมื่อประมาณ 400 กว่าปีมาแล้ว เมืองจีนในสมัยราชวงศ์หมิง มีครอบครัวตระกูลลิ้มครอบครัวหนึ่ง มีลูก 2 คน คนพี่(ผู้ชาย)ชื่อ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม คนน้อง(ผู้หญิง)ชื่อ ลิ้มกอเหนี่ยว ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นข้าราชการอยู่ที่เมืองจั่วจิว เนื่องจากนิสัยที่เป็นคนซื่อตรง ทำให้มีกลุ่มขุนนางคิดกำจัด ด้วยการใส่ร้ายลิ้มโต๊ะเคี่ยมว่าซ่องสุมกำลังคน และคบคิดกับโจรญี่ปุ่น ทางเมืองหลวงจึงประกาศจับกุม ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมต้องหลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน แล้วภายหลังล่องเรือลงมาหยุดที่เมืองตานี ในหมู่บ้านกรือเซะ ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานี  

เวลาผ่านไปลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลาม และแต่งงานอยู่กินกับธิดาเจ้าเมืองตานี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เจ้าเมืองต้องการสร้างมัสยิด เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงอาสาเป็นผู้คุมงานก่อสร้างมัสยิดให้

ฝ่ายแม่ของลิ้มโต๊ะเคี่ยม เฝ้ารอลูกชายกลับบ้านทุกวัน ทำให้ทุกข์ใจจนล้มป่วย ลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ดูแลแม่จนหายดี และจึงตัดสินใจออกตามหาพี่ชาย ด้วยการรวบรวมชายฉกรรจ์ฝีมือดี 70 คน ลงเรือสำเภา 9 ลำ ออกตามหาพี่ชายจนรู้ข่าวว่าอยู่ที่เมืองตานี เมื่อเจอพี่ชายของตน ก็อ้อนวอนให้พี่ชายกลับบ้านไปเยี่ยมแม่ผู้ชรา ลิ้มโต๊ะเคี่ยมลำบากใจมาก เพราะตนต้องลี้ภัยจากราชสำนักจีน อีกทั้งยังต้องรับผิดชอบงานสร้างมัสยิด  ทำให้ต้องตอบปฏิเสธน้องสาวไป แม้ว่าลิ้มกอเหนี่ยวจะพยายามเกลี่ยกล่อมสักเท่าใด พี่ชายก็ไม่เปลี่ยนใจ ทำให้เธอสิ้นหวัง คับแค้นใจพี่ชายเป็นอย่างมาก จึงอธิษฐานขอสาปแช่งอย่าให้พี่ชายสร้างมัสยิดสำเร็จ จากนั้นตัดสินใจผูกคอตาย เมื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมรู้ก็เสียใจมาก เขาจึงสร้างสุสานฝังศพเธอเอาไว้ (ปัจจุบันเป็นสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ตั้งอยู่ข้างมัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี)

หลังจากที่ลิ้มกอเหนี่ยวสิ้นชีพไป เรือสำเภา 9 ลำ ก็ลูกปล่อยให้ล่มลงกลางทะเล บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “รูสะมิแล” หมายถึง สนเก้าต้น โดยคำว่า “รู” เป็นภาษามาลายู แปลว่า สน และคำว่า “สะมิแล” แปลว่า เก้า

เล่ากันว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมสร้างมัสยิดยังไงก็ไม่สำเร็จ เพราะจะมีสายฟ้าผ่ายอดโดมจนพังทลายทุกครั้ง เชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปแช่งของลิ้มกอเหนี่ยว ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงหยุดการสร้างมัสยิด ปัจจุบันมัสยิดนี้คือ “มัสยิดกรือเซะ” โบราณสถานสำคัญของเมืองปัตตานี

นอกจากชาวเมืองปัตตานีจะศรัทธาในความเด็ดเดี่ยว และแรงสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวแล้ว ยังเชื่อกันว่า! เจ้าแม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และช่วยคุ้มครองชาวเรือให้อยู่รอด ปลอดภัย เมื่อยามออกสู่ท้องทะเลอีกด้วย

5) วัวกายสิทธิ์แห่งเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

 

 

 
 

 
View this post on Instagram
 

 

 

 
 

 
 

 

 
 

 

A post shared by Bimp Wattanachatkanun (@brynnybymp) on

“จากความแค้นที่ฝังแน่น เกิดวัวฑูตมรณะแห่งความอาฆาต ระเบิดพิษร้ายกลางเมือง คร่าชีวิตผู้คนหมดสิ้น สู่ซากเมืองโบราณอายุมากกว่าพันปีในปัจจุบัน”

“เมืองศรีเทพ” หรือ “เมืองอภัยสาลี” เมืองโบราณอายุไม่ต่ำกว่าพันปี สร้างขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ คนพาเที่ยวสงสัยกันไหมคะ ว่าทำไมอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองเสื่อมลงเพราะเหตุใด? มาไขปริศนากับตำนานที่เล่าขาน ตามความเชื่อนี้กัน

นานมาแล้วมีฤาษีสองตน นามว่า ฤาษีตาไฟ ฤาษีตาวัว มีอาศรมอยู่ใกล้กันบนเขาใกล้เมืองศรีเทพ ฤาษีตาไฟมีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นบุตรเจ้าเมืองศรีเทพ ใกล้ๆอาศรมมีบ่อน้ำวิเศษสองบ่อ บ่อแรกอาบคร่าชีวิต บ่อสองคืนชีวิต เมื่อศิษย์รู้ความวิเศษของบ่อน้ำทั้งสอง

ก็ทำท่าทางประหลาดใจ เหมือนไม่เชื่อคำอาจารย์ ฤาษีตาไฟจึงพิสูจน์ให้ศิษย์ของตนเชื่อ ด้วยการลงไปในบ่อคร่าชีวิต แล้วก็กำชับให้ลูกศิษย์นำน้ำจากบ่อชุบชีวิตมารดร่างเมื่อตนตายไป แต่หลังจากฤาษีสิ้นใจ ลูกศิษย์แทนที่จะนำน้ำจากบ่อชุบชีวิตมารด กลับตกใจ และวิ่งหนีเตลิดกลับเข้าเมืองศรีเทพไป

ครั้นเวลาผ่านไป ฤาษีตาวัวเกิดแปลกใจว่าทำไมฤาษีตาไฟไม่มาเยี่ยมเยียนเป็นเวลานาน จึงเข้ามาเยี่ยมฤาษีตาไฟที่อาศรม แต่เมื่อเดินผ่านมาเจอน้ำในบ่อคร่าชีวิตกำลังเดือดพลุ่งพล่าน จึงเกิดสังหรณ์ใจว่าต้องเกิดเรื่องร้ายกับฤาษีตาไฟเป็นแน่ จนสุดท้ายฤาษีตาวัวได้พบศพฤาษีตาไฟในบ่อคร่าชีวิต จึงรีบนำศพขึ้นมาแล้วตักน้ำจากบ่อชุบชีวิตมารดร่าง ทำให้ฤาษีตาไฟกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ด้วยความโกรธแค้นของฤาษีตาไฟที่ลูกศิษย์ปล่อยให้ตนตายจริงๆ จึงเสกวัวตัวใหญ่แข็งแรง ร่ายคาถาอัดพิษร้ายนานาชนิดไว้ในท้องวัวจนบวมป่อง แล้วสั่งให้วิ่งตะบึงเข้าไปในเมืองศรีเทพ ชาวบ้านต่างพากันวิ่งหนีวัวตนนี้กันจ้าละหวั่น นายประตูเห็นเหตุการณ์ไม่ดีจึงปิดประตูเมืองไว้เป็นเวลาเจ็ดวัน เมื่อนอกเมืองไร้สิ้นเสียงคำรามของวัวกายสิทธิ์ เจ้าเมืองจึงสั่งเปิดประตูเมือง แต่หารู้ไม่ว่าเจ้าวัวกายสิทธิ์คอยซุ่มอยู่ มันกระโจนเข้ามาในกลางเมืองทันที ฉับพลันนั้นเอง! มันหยุดนิ่ง ตาเหลือกถลน แล้วท้องของมันก็แตก เหมือนเสียงระเบิดดังสนั่น พิษร้ายในท้องของวัวกายสิทธิ์ทำร้ายผู้คนในเมือง จนตายตามกันไปทั้งเมือง เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เมืองสีเทพกลายป็นเมืองร้างมาจนถึงปัจจุบัน…

ร่องรอยของเมืองศรีเทพในปัจจุบัน อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาตร์ศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

6) เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์

“เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองที่เคยรุ่งเรืองในสมัยทวารวดี การกระทำหยามหมิ่นเกียรติ นำพาให้เกิดศึกสงครามสองนคร”

บริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำปาว มีเมืองฟ้าแดด และ เมืองสงยาง เป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน ต่อมารวมกันป็นเมืองเดียวใช้ชื่อว่า “เมืองฟ้าแดดสงยาง” มีตำนานความรักแสนเศร้าเล่าสืบต่อ กันมาว่า…

พญาฟ้าแดด กับ มเหสีจันทาเทวี มีพระธิดารูปโฉมงดงาม ชื่อว่า ฟ้าหยาด พญาฟ้าแดด หวงแหนพระธิดาอย่างมาก สร้างปราสาทกลางน้ำให้อาศัย แล้วจัดทหารเฝ้าอย่างเข้มงวด  

พญาจันทะราช ผู้ครองเมืองเชียงโสม พบกวางทองลักษณะงาม (เชื่อกันว่าเป็นพระอินทร์แปลงกายลงมา) จึงไล่ตามกวางตัวนั้นไป จนล่วงเข้าไปในเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงเข้าไปพักที่ศาลานอกเมืองได้ยินชาวบ้านร่ำลือถึงความงามของพระธิดาฟ้าหยาด ก็เฝ้าฝันอยากพบ ในกลางดึกคืนหนึ่งขณะที่พญาจันทะราชหลับไหล พระอินทร์เสด็จลงมาอุ้มพญาจันทะราชไปที่ปราสาทกลางน้ำของพระธิดาฟ้าหยาด ทั้งสองแอบครองคู่อยู่ด้วยกัน โดยที่พญาฟ้าแดดไม่รู้ จนกระทั่งพระธิดาตั้งครรภ์ พญาจันทะราชจึงกลับบ้านเมืองเชียงโสม เพื่อเตรียมการสู่ขอคนรัก

เมื่อพญาฟ้าแดดรู้ถึงการกระทำที่ล่วงเกินพระธิดา ซึ่งถือเป็นการหยามหมิ่นตนอย่างร้ายแรง จึงปฏิเสธการสู่ขอ ทำให้พญาจันทะราชโมโหมาก จึงกลายเป็นฉนวนเหตุสงครามศึกชนช้างระหว่างพญาฟ้าแดดและพญาจันทะราช แต่โชคร้ายขึ้นกับพญาจันทะราชที่เสียทีถูกฟันคอขาดในสนามรบ เมื่อพระธิดาฟ้าหยาดรู้ว่าคนรักเสียชีวิต ก็โศกเศร้าจนตรอมใจตาย

ต่อมาพญาฟ้าแดดรู้สึกสำนึกผิด ทรงโปรดสร้างเจดีย์สององค์ บรรจุอัฐิของพญาจันทะราช และพระธิดาฟ้าหยาดไว้คู่กัน  

เวลาผ่านไป พญาธรรม ผู้ครองเมืองเชียงโสมต่อจากพญาจันทะราช ซ่องสุมกำลังพลแล้วบุกเข้ายึดเมืองฟ้าเเดดสงยางได้ และได้รวมทั้งสองเมืองเข้าด้วยกัน เวลาผ่านมานานนับพันปี เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองโบราณแห่งนครอีสาน ที่ตั้งของพระธาตุยาคู เจดีย์ที่คงความสมบูรณ์ และใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง

Comments

comments